ดอกบัวเกิดจากโคลนตมและน้ำ แต่ไม่ติดโคลนตมและน้ำ
ทุกคนอยากมีชีวิตที่สมบูรณ์และมีค่า เป็นเสฏฐชีวีต (ชีวิตที่ประเสริฐ) ใช่หรือไม่ ถ้าถามว่าชีวิตที่สมบูรณ์นั้นจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ขอตอบว่าจะต้องพร้อมด้วยประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต นั่นก็คือ ชีวิตเราต้องมีจุดมุ่งหมาย หรือมีสิ่งที่ควรเป็นจุดมุ่งหมาย แบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้
1. ทิฏฐธัมมิกกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์สุขที่ตามองเห็น เป็นเรื่องของวัตถุหรือรูปธรรม เช่น มีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีทรัพย์สินเงินทอง มีการงานอาชีพที่เป็นหลักเป็นฐาน คือพึ่งตนเองได้ มีสถานะในสังคม ที่เรียกว่ามีหน้ามีตา มีมิตรบริวาร และสิ่งที่สำคัญคือมีครอบครัวที่ดีและอบอุ่น เป็นต้น
2. สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในท่ามกลาง เป็นประโยชน์ที่เป็นนามธรรม ระดับของจิตใจ มีคุณธรรมในจิตใจ โดยเฉพาะศรัทธา มีความเชื่อในสิ่งที่ดีงาม ในคุณงามความดี การกระทำความดี แล้วก็มีความประพฤติดีงาม เกื้อกูลไม่เบียดเบียนใคร ถ้าพูดอีกทีก็คือไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น มีจาคะมีความเสียสละใช้เงินใช้ทองที่หามาได้อย่างรู้ค่า และทำให้เกิดคุณค่าแก่เพื่อนมนุษย์มากที่สุด เพื่อประโยชน์ที่กว้างออกไป แล้วก็จะต้องมีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในสรรพสิ่ง เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด ไม่ให้เกิดปัญหา อยู่อย่างเป็นนายไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สินที่มีอยู่
3. ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์ที่สูงสุดหรือจุดมุ่งหมายที่สูงสุด ในทางพระพุทธศาสนานี่เราเรียกกันว่า “ นิพพาน ” คือความที่จิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์และความเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันโลกและชีวิต อยู่ในโลกนี้แต่ไม่ติดโลก ไม่เปื้อนโลก อุปมาเหมือนดอกบัวที่เกิดในโคลนตม มันก็สามารถชูดอกพ้นมาจากโคลนตมได้ โดยไม่เปื้อนโคลนตม ฉันใดก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงหาคำตอบให้กับตนเองว่าเราเกิดมาทำไม และอยู่เพื่ออะไร จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร พยายามหาคำตอบให้ได้ แล้วก็เดินทางไปสู่จุดหมายนั้น จึงเรียกว่า เราคนหนึ่งเกิดมาไม่เสียเปล่า คือไม่เสียชาติที่ได้เกิดมา ต้องใช้ชีวิตอย่างรู้ค่าที่สุด ทำชีวิตนี้ให้มีกำไร อย่าทำตนเป็น “ โมฆบุรุษ ” (ผู้เปล่าจากประโยชน์) เลย